ยินดีต้อนรับสู่ เว็บไซต์ การปลูกกล้วยไม้ โดย สุภาพ  
 

การบำรุงดูแลรักษากล้วยไม้

การเจริญเติบโตของกล้วยไม้
      การเจริญเติบโตของกล้วยไม้ทุกชนิด อาศัยปัจจัยตามธรรมชาติ 4 ประการ คือ
          1. แสงสว่าง (Light) ช่วยในการสังเคราะห์ด้วยแสง มีอิทธิพลต่อสีของใบกล้วยไม้ ความยาวของลำต้น และความเร็วในการออกดอก ถ้าแสงสว่างน้อยใบจะมีสีเขียวเข้ม ลำต้นสูงชะลูดแบบบาง เปราะ หักง่าย และจะออกดอกช้า
          2. ความชุ่มชื่น (Humidity) เป็นตัวลำเลียงสารต่าง ๆ ภายในเซลล์ และเป็นองค์ประกอบสำคัญในเนื้อเยื่อ ต่าง ๆ ทำให้กล้วยไม้สดชื่น และคงรูปร่างอยู่ได้
          3. อุณหภูมิ (Temperature) มีผลต่อกระบวนการในการสังเคราะห์ด้วยแสงและการดูดน้ำของกล้วยไม้
          4. บรรยากาศ (Atmospheric Air)ก๊าซคาร์บอนได้ออกไซด์ในอากาศมีความสำคัญต่อการสังเคราะห์ด้วยแสง ก๊าซออกซิเจนที่กล้วยไม้หายใจก่อให้เกิดเป็นพลังงานที่นำไปใช้ในกระบวนการสังเคราะห์ต่าง ๆ อากาศเป็นสื่อถ่ายเทความชื้นและความร้อยหนาวให้แก่ต้นกล้วยไม้ด้วย ปัจจัยสำคัญเหล่านี้จะต้องมีความพอเหมาะ กับความต้องการของกล้วยไม้เป็นสำคัญ


การให้น้ำ
      น้ำที่ใช้รดกล้วยไม้ต้นอ่อนและต้นที่โตแล้วจะต้องเป็นน้ำที่ใสสะอาดไม่มีตะกอนขุ่น ไม่มีกลิ่น มีความเป็นกรดอ่อน ถึงเป็นกลาง คือมีค่า pH ประมาณ 5-7 เพราะน้ำที่มีฤทธิ์เป็นกรดอ่อน ๆ จะช่วยละลายธาตุอาหารบางอย่าง เช่นพวกเกลือฟอสเฟตให้ต้นกล้วยไม้ดูดเอาไปใช้เป็นอาหารได้ดี และปริมาณเกลือแร่ต่าง ๆ ที่ละลายในน้ำมีน้อย น้ำฝนเป็นน้ำรดกล้วยไม้ที่ดีที่สุด รองลงไปคือน้ำประปา ส่วนน้ำบาดาลนั้นแต่ละท้องที่อาจจะมีเกลือแร่ต่าง ๆ เจือปนอยู่ไม่เหมือนกัน ควรตรวจสอบก่อนใช้ และอาจต้องกรองแยกสนิมเหล็ก รวมทั้งปรับค่า pH ให้พอเหมาะเสียก่อน หากใช้ไปแล้วประมาณ 2-3 ปี คุณภาพของน้ำบาดาลก็จะค่อย ๆ ดีขึ้นได้ น้ำจากแม่น้ำ ลำคลองที่สะอาด ไม่มีขยะเจือปน ก่อนใช้ควรกรองหรือปล่อยให้ตกตะกอนและปรับระดับค่า pH ส่วนน้ำบ่อนั้นหากเป็นบ่อขุดใหม่อาจมีเกลือแร่ที่เป็นอันตรายต่อกล้วยไม้อยู่มาก ควรตรวจสอบก่อนใช้เช่นกัน


อุปกรณ์สำหรับให้น้ำกล้วยไม้ มีดังนี้
       (1) เครื่องพ่นน้ำขนาดเล็กแบบสูบลมด้วยมือ เหมาะสำหรับใช้พ่นน้ำแก่ลูกกล้วยไม้อ่อน
       (2) บัวรดน้ำชนิดฝอยละเอียด มีก้านบัวยาว เพื่อสามารถสอดก้านเข้าไปรดกระถางหรือกระเช้าซึ่ง
แขวนอยู่บนราวในเรือนกล้วยไม้ได้สะดวก
       (3) หัวฉีดต่อกับสายยาง หัวฉีดเป็นชนิดที่พ่นน้ำเป็นละอองฝอยมีแรงกระแทกต่ำ ใช้รดน้ำได้สะดวก รวดเร็ว เหมาะสำหรับการปลูกเลี้ยงกล้วยไม้เป็นจำนวนมาก
      (4) ระบบฝนเทียม ทำได้โดยการติดตั้งหัวฉีดพ่นน้ำเป็นฝอยไว้ทั่วเรือนกล้วยไม้เมื่อเปิดก๊อกหรือเดินเครื่องสูบน้ำ ก็จะมีฝอยน้ำทั่วโดยไม่ต้องใช้คนถือหัวฉีด ใช้เวลาน้อยแต่ควบคุมปริมาณการให้น้ำในบริเวณใดบริเวณหนึ่ง ให้มากน้อยได้ง่าย

วิธีการให้น้ำลูกกล้วยไม้
  ในกระถางหมู่หรือกระถางนิ้วนั้น ในระยะ 2-3 วันแรกยังไม่ควรให้น้ำเนื่องจากได้รับ
ความกระทบกระเทือนจากการนำออกจากขวดเพาะและการปลูก อาจทำให้รากหรือใบเน่าได้ง่าย หลังจากนั้นจึงพ่นน้ำเป็นละอองพอชื้น ๆ ด้วยเครื่องพ่นน้ำแบบสูบลมด้วยมือ วันละ 1-2 ครั้ง คือตอนเช้าและเย็น เมื่อนำกระถางหมู่หรือกระถางนิ้วไปไว้ในเรือนเลี้ยงกล้วยไม้แบบโปร่งแล้ว พ่นน้ำให้วันละ 2-3 ครั้ง ต่อมาเมื่อลูกกล้วยไม้เจริญเติบโตดี มีรากแข็งแรง และเดินได้ดีแล้วอาจจะรดด้วยบัวรดน้ำก็ได้

การให้ปุ๋ย
      กล้วยไม้ต้องการปุ๋ยไปช่วยเสริมสร้างความเจริญเติบโตของส่วนต่าง ๆ เช่นเดียวกับพืชอื่น ๆ กล้วยไม้ที่อาศัยเกาะอยู่บนต้นไม้ก็จะได้อาหารจากเปลือกไม้ใบไม้ที่เน่าเปื่อยผุพังสลายตัวเป็นสารประกอบต่าง ๆ โดยการดูดซึมผ่านทางรากเข้าสู่ต้น แต่กล้วยไม้ที่นำมาปลูกไว้ในกระเช้าหรือกระถางไม่มีเปลือกไม้หรือใบไม้ เน่าเป็นอาหาร จึงจำเป็นต้องให้ปุ๋ย

ข้อควรพิจารณาในการให้ปุ๋ย มีดังนี้
      1. การเลือกใช้ปุ๋ย   เลือกใช้ปุ๋ยให้เหมาะกับชนิด และขนาดของกล้วยไม้และให้ถูกกับความประสงค์ของผู้ปลูก กล้วยไม้แต่ละชนิดต้องการปุ๋ยไม่เท่ากันกล้วยไม้ที่ปลูกในที่โล่งแจ้งและทนต่อแสงแดด เช่นกล้วยไม้สกุลหวาย ต้องให้ปุ๋ยมากกว่ากล้วยไม้ที่ปลูกในที่ค่อนข้างร่ม เช่นกล้วยไม้สกุลคัทลียา กล้วยไม้ที่ปลูกด้วยเครื่องปลูก เช่น กาบมะพร้าว ออสมันด้า เศษไม้ หรือปลูกให้ติดกับท่อนไม้ ซึ่งเป็นสารอินทรีย์ สามารถสลายตัวให้ธาตุอาหารแก่กล้วยไม้ได้บ้าง ก็อาจจะให้ปุ๋ยน้อยกว่ากล้วยไม้ที่ปลูกด้วยถ่าน ก้อนหิน ก้อนกรวด หรือปลูกในกระเช้าไม้โดยไม่ใส่เครื่องปลูกเลย ลูกกล้วยไม้และกล้วยไม้ต้นใหญ่ก็ต้องการปุ๋ยไม่เหมือนกัน หรือผู้ปลูกต้องการให้กล้วยไม้ออกดอกเร็วขึ้น ราก ลำต้น ใบ เจริญเร็วขึ้น ก็ต้องเลือกใช้ปุ๋ยให้เหมาะสม
      2. น้ำ  น้ำที่ใช้ผสมกับปุ๋ยต้องเป็นน้ำสะอาด และต้องให้ปุ๋ยละลายในน้ำจนเต็มที่เสียก่อน จึงค่อยนำไปใช้ ้รดกล้วยไม้
      3. เวลา เวลาที่เหมาะสมกับการให้ปุ๋ย ตั้งแต่เช้าตรู่จะกระทั่งประมาณ 11.00 น. เนื่องจากแสงแดดจะช่วย ให้กล้วยไม้ใช้ประโยชน์จากปุ๋ยได้เต็มที่ วันใดที่ครึ่มฟ้าครึ่มฝน แม้ว่าถึงกำหนดให้ปุ๋ยก็ไม่ควรทำเนื่องจากจะ ไม่มีประโยชน์ต่อกล้วยไม้เท่าที่ควร และฝนอาจชะล้างปุ๋ยไปเสียหมดก็ได้
     4. ความถี่ในการให้ปุ๋ย   ขึ้นอยู่กับชนิดของกล้วยไม้ สภาพเรือนกล้วยไม้เครื่องปลูกความเข้มของการ ให้ปุ๋ยแต่ละครั้ง เป็นต้น โดยทั่วไปจะให้ปุ๋ย 7-15 วันต่อครั้ง ถ้าไม่มีปัญหาเรื่องแรงงานหรืออื่น ๆ ควรจะให้ปุ๋ยเข้มข้นน้อย ๆ แต่ให้บ่อยครั้งขึ้น
วิธีการให้ปุ๋ย
      ดังนี้ ในระยะแยกลูกกล้วยไม้ลงกระถางหมู่หรือกระถางนิ้วไม่ควรให้ปุ๋ย อาจทำให้รากเน่าได้ ต้องรอจนกว่ารากเริ่มเกาะเครื่องปลูกแล้ว ใช้เวลาประมาณ 2-3 สัปดาห์ จึงให้ปุ๋ยสูตรที่เร่งการเจริญของราก คือปุ๋ยที่มีธาตุฟอสฟอรัสและโปแตสเซียมสูงกว่าไนโตรเจน เช่น สูตร 10-24-24 หรือสูตร 10-52-17 ละลายน้ำในอัตราความเข้มข้นประมาณหนึ่งในสี่หรือครึ่งหนึ่งของคำแนะนำ โดยใช้เครื่องพ่นน้ำชนิดเป็นละออง พ่นน้ำปุ๋ยประมาณสัปดาห์ละครั้ง ควรให้ปุ๋ยตอนเช้าที่มีอากาศแจ่มใส ถ้าเห็นว่าลูกกล้วยไม้เจริญแข็งแรงดี รากเกาะเครื่องปลูกดีแล้ว อาจจะใช้ บัวรดน้ำปุ๋ยแทนการพ่นด้วยเครื่องพ่นก็ได้ เมื่อย้ายลูกกล้วยไม้ ้จากกระถานนิ้วไปปลูกในกระเช้าไม้ ในระยะแรกยังไม่ควรให้ปุ๋ย รอให้รากเริ่มเกาะเครื่องปลูกหรือภาชนะปลูกแล้ว จึงให้ปุ๋ยสูตรเร่งราก คือปุ๋ยที่มีธาตุไนโตรเจนต่ำกว่าธาตุฟอสฟอรัสและ โปแตสเซียมจนเห็นว่ารากเจริญแข็งแรงดี จึงเปลี่ยนปุ๋ยเป็นสูตรเร่งความเจริญเติบโตของใบและต้น คือปุ๋ยที่มีธาตุไนโตรเจนสูงกว่าธาตุฟอสฟอรัส และโปแตสเซียมหรือใช้สูตรที่มีเรโชเท่ากัน ทุก ๆ 7-15 วัน
      5. ปริมาณ   ควรให้ปุ๋ยในปริมาณและผสมน้ำตามส่วนที่ระบุไว้ในคำแนะนำ แต่ถ้าไม่แน่ใจว่าปริมาณปุ๋ยที่แนะนำจะเข้มข้นเกินไปหรือไม่ ก็ควรลดปริมาณปุ๋ยที่ผสมแต่ละครั้งลง และให้ปุ๋ยบ่อยครั้งขึ้นอุปกรณ์การให้ปุ๋ยก็เหมือนกับอุปกรณ์สำหรับใช้ในการให้น้ำกล้วยไม้นั่นเอง

 


 

Free Web Hosting